ชมรมผู้ค้าสลากเลขท้ายแห่งประเทศไทย (หวยบนดิน)
The Digit Lotto Dealer Group of Thailand (DLD)
ความหมายของสลากกินรวบ, สลากกินแบ่ง
ประเพณีีการจ่ายรางวัล
การตีความหลักกฎหมาย
อำนาจของกฤษฏีกา
อำนาจของราชบัณฑิตยสถาน
พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
สลากสากลพื้นฐาน
1. สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็น “สลากกินแบ่ง” หรือ “สลากกินรวบ” ในความเห็นทางกฎหมายเรื่องเสร็จที่ 568-569/2549 หน้าที่ 9 ย่อหน้าสุดท้าย ระบุว่า “โดยที่พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ มิได้บัญญัตินิยามคำว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ อีกทั้งพระราชบัญญัติการพนันฯ ก็มิได้บัญญัตินิยามคำว่าสลากกินแบ่งไว้เช่นกัน กรณีจึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติทั้งปวงแห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ เอง” และในหน้าที่ 10 ย่อหน้าที่ 2 บรรทัดที่ 9 ระบุว่า “........สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว ที่ออกตามรูปแบบและวิธีการดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ แต่เป็นสลากกินรวบ” ข้าพเจ้าเห็นว่าในพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการกฤษฎีกาในการจัดทำร่างกฎหมาย ปรึกษาความเห็นทางกฎหมาย และเสนอความเห็น, ข้อสังเกตต่อหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่มิได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการกฤษฎีกาในการนิยามความหมายของคำศัพท์แต่อย่างใด เมื่อพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับมิได้นิยามความหมายของคำว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาล” , “สลากกินแบ่ง” และ “สลากกินรวบ” ไว้ จึงต้องตรวจคำนิยามตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2546 ซึ่งได้นิยามความหมายไว้ก่อนการออกมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ได้ให้ความหมายของคำดังต่อไปนี้ รัฐบาล น. องค์กรปกครองประเทศ, คณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารในการปกครองประเทศ สลากกินแบ่ง น. สลากที่จัดให้มีขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้เล่นเป็นการเสี่ยงโชค โดยมีการให้รางวัลที่แบ่งเป็นหลายรางวัลแก่ผู้เล่นซึ่งถือสลากเลขหมายรางวัลที่ออกตามวิธีการที่กำหนด, ลอตเตอรี่, หวย หรือ หวยเบอร์ ก็เรียก สลากกินรวบ น. สลากชนิดที่จำหน่ายแก่ผู้ถือเพื่อรับสิ่งของเป็นรางวัลในการเสี่ยงโชค โดยผู้จำหน่ายรวบเงินค่าสลากไว้ทั้งหมด สลากบำรุงกาชาดซึ่งให้รางวัลเป็นสิ่งของ อาทิ รถยนต์ สร้อยคอทองคำ เป็น “สลากกินรวบ” แต่สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวซึ่งจ่ายรางวัลเป็นเงินและไม่เคยจ่ายรางวัลเป็นสิ่งของเป็น “สลากกินแบ่ง” ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าความเห็นทางกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ถูกต้อง 2. ความหมายของคำว่า “สลากกินแบ่ง” และ “สลากกินรวบ” ต้องอ้างอิงจากแหล่งใด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 มาตรา 7 ซึ่งได้ให้อำนาจแก่ราชบัณฑิตยสถานดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2545 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าต้องอ้างอิงคำนิยามตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เท่านั้น ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกานั้นไม่ถือว่าเป็นนิยามความหมายคำแต่อย่างใด 3. ราชบัณฑิตยสถานได้นิยามความหมายของคำว่า “สลากกินรวบ” ใหม่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 แตกต่างไปจากความหมายเดิม ต้องอ้างอิงตามความหมายใหม่หรือความหมายเดิม แม้ราชบัณฑิตยสถานจะนิยามความหมายของคำว่า “สลากกินรวบ” แตกต่างไปจากเดิม แต่การอ้างอิงความหมายของคำนั้น ต้องอ้างอิง ณ เวลาที่ออกมติคณะรัฐมนตรีขึ้น คือ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 นิยามใหม่ของคำว่า “สลากกินรวบ” จึงไม่มีผลย้อนหลังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 และความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เรื่องเสร็จที่ 70/2550) หน้าที่ 5 ย่อหน้าแรก ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง” 4. “สลากกินแบ่งรัฐบาล” และ “สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว” เป็นสลากประเภทเดียวกันหรือไม่ ในความเห็นทางกฎหมายเรื่องเสร็จที่ 570/2542 หน้าที่ 6 ย่อหน้าที่ 6 ระบุว่า “สลากบำรุงการกุศลและสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสลากซึ่งมีที่มาของการออกสลากแตกต่างกัน กล่าวคือ สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสลากที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีอำนาจออกตามมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ส่วนสลากบำรุงการกุศลเป็นสลากที่หน่วยงานหรือองค์กรอื่นขออนุญาตออกสลากเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่าย ซึ่งผู้ขอออกสลากต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 สลากทั้งสองจึงเป็นสลากที่มีที่มาแตกต่างกันและผู้ออกสลากเป็นคนละหน่วยงานกัน ด้วยเหตุดังกล่าวสลากบำรุงการกุศลกับสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงมิใช่สลากประเภทเดียวกัน” ข้าพเจ้าเห็นว่า “สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว” เป็น “สลากกินแบ่ง” ตามพระราชบัญญัติการพนัน มิใช่ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 5. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจในการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวได้หรือไม่ ในความเห็นทางกฎหมายเรื่องเสร็จที่ 568-569/2549 หน้าที่ 9 ย่อหน้าที่ 7 ระบุว่า “การดำเนินกิจการใดของนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ บัญญัติให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีวัตถุประสงค์เพื่อออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำเนินกิจการโรงพิมพ์ และกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเท่านั้น การดำเนินการใดที่ไม่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 5 ดังกล่าว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้” ข้าพเจ้าเห็นว่า เมื่อคำนิยามตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยามความหมายของสลากกินแบ่งไว้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงสามารถอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฯ มาตรา 5 (1) ซึ่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวได้ 6. การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวถือเป็นการกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มาตรา 5 (1) ได้ให้อำนาจสำนักงานสลากในการ “ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล” แล้ว สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวซึ่งอ้างอิงตัวเลขของรางวัลที่ 1 และเลขท้าย 2 ตัวในการจ่ายรางวัล ดังนั้นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ มาตรา 5 (3) ในการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวได้ 7. ทำไมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงเรียกสลากชนิดนี้ว่า “สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว” แทนที่จะเรียกว่า “สลากกินแบ่งพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว” ข้าพเจ้าเห็นว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เคยออกสลากกินแบ่งรัฐบาลมาแล้วหลายชนิด อาทิ สลากการกุศล สลากพิเศษ ซึ่งมีลักษณะเป็น “สลากกินแบ่ง” แต่ก็มิได้ใช้คำว่า “สลากกินแบ่ง”นำหน้าชื่อแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าสลากชนิดนี้คือสลากกินแบ่งรัฐบาล 8. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวโดยขออนุญาตตามพระราชบัญญัติการพนันฯ ได้หรือไม่ ในความเห็นทางกฎหมายเรื่องเสร็จที่ 568-569/2549 หน้าที่ 13 ย่อหน้าที่ 4 ระบุว่า “โดยที่กฎหมายว่าด้วยการพนันเป็นกฎหมายของรัฐในการควบคุมการจัดการให้มีการเล่นการพนันของประชาชนโดยวิธีการอนุญาต โดยมิได้มีบทบัญญัติที่เป็นข้อจำกัดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตแต่ประการใด ดังนั้น แม้ว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะไม่มีอำนาจออกสลากดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ ก็ตาม แต่เมื่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการขออนุญาตออกสลากดังกล่าวตามกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้มีการเล่นจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแล้ว กรณีย่อมถือว่าการออกสลากที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการพนันฯ” ข้าพเจ้าเห็นว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการพนัน ฯ เพื่อออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวได้ 9. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องจัดสรรเงินรางวัลและรายจ่ายของสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฯ มาตรา 22 หรือไม่ ในความเห็นทางกฎหมายเรื่องเสร็จที่ 568-569/2549 หน้าที่ 10 บรรทัดที่ 2 ระบุว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการออกสลากให้เป็นไปตามมาตรา 22 บัญญัติไว้เท่านั้น” ข้าพเจ้าเห็นว่า พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฯ มาตรา 22 นั้นมิใช่คำนิยามของคำว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาล” แต่อย่างใด อีกทั้งการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการขออนุญาตออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวตามพระราชบัญญัติการพนันฯ จึงต้องอ้างอิงการจัดสรรเงินรางวัลและรายจ่ายตามพระราชบัญญัติการพนันฯ ซึ่งมิได้มีการระบุเงื่อนไขใดๆไว้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฯ มาตรา 22 ในการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวแต่อย่างใด 10. ผลการออก “สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว” อาจทำให้ขาดทุนได้ ถือว่าขัดพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มาตรา 5 (3) หรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นว่าในเนื้อหาของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เรื่อง โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว เพื่อนำรายได้คืนสู่สังคมนั้น มิได้ระบุเงื่อนไขการรับแทงหรือการจ่ายเงินรางวัลแต่อย่างใด แต่ประกาศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต่างหากที่มิได้กำหนดเพดานการจ่ายเงินรางวัล สิ่งนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอาจขาดทุนจากการออกรางวัลได้ 11. สลากแบบพิเศษเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวเสียภาษีการพนันร้อยละ 0.5 ถูกต้องแล้วหรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เรื่อง โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว เพื่อนำรายได้คืนสู่สังคม ข้อที่ 1.2 ระบุว่า “ให้นำรายได้จัดสรรกลับคืนสู่สังคมและประชาชนโดยตรง โดยให้การสนับสนุนด้านการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ” ซึ่งตรงกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตการเล่นสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เสียภาษีร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่าย” ดังนั้นการที่สลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวซึ่งนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล เสียภาษีร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่ายจึงชอบด้วยกฎหมาย 12. การไม่ส่งรายได้จากการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวเป็นรายได้แผ่นดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้าพเจ้าเห็นว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวตามพระราชบัญญัติการพนันฯ ซึ่งมิได้ระบุเงื่อนไขการนำส่งรายได้ไปที่ใด อีกทั้งกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ฯ ระบุไว้ชัดเจนว่า สลากที่จะได้รับสิทธิในการเสียภาษีร้อยละ 0.5 นั้น ต้องนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณะกุศลเท่านั้น หากนำรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะผิดวัตถุประสงค์ดังกล่าวและไม่ได้รับสิทธิในการเสียภาษีดังกล่าว